โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง
เอกสารเผยแพร่เอกสารเผยแพร่ ท่านผู้อำนวยการ

นโยบายการบริหารงานของผู้อำนวยการโรงเรียน

นโยบายการบริหารงานของ ผู้อำนวยการ

นายราเมศน์  โสมแสน ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง  ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔

         การบริหารงานจะเป็นไปด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ยุติธรรม ชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้  และให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหาร ใช้หลัก “บวร” คือ บ้าน วัด โรงเรียน ร่วมมือกันสร้างสรรค์โรงเรียน และชุมชน ให้เจริญก้าวหน้า และเข็มแข็ง

หลักการบริหารจัดการสถานศึกษา

ดำเนินการบริหารจัดการสถานศึกษาโดยใช้หลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (GG Framework) ทั้ง 4 หลักการสำคัญ และ10 หลักการย่อย ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ซึ่งประกอบด้วย

      1. การบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management) ประกอบด้วย

              1.1 ประสิทธิภาพ (Efficiency) หมายถึง ในการปฏิบัติราชการต้องใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด เกิดผลิตภาพที่คุ้มค่าต่อการลงทุนและบังเกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม ทั้งนี้ ต้องมีการลดขั้นตอนและระยะเวลาในการปฏิบัติงานเพื่ออำนวยความสะดวก และลดภาระค่าใช้จ่าย ตลอดจนยกเลิกภารกิจที่ล้าสมัยและไม่มีความจำเป็น

               1.2 ประสิทธิผล (Effectiveness) หมายถึง ในการปฏิบัติราชการต้องมีวิสัยทัศน์เชิงยุทธศาสตร์ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ปฏิบัติหน้าที่ตามพันธกิจให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การ มีการวางเป้าหมายการปฏิบัติงานที่ชัดเจนและอยู่ในระดับที่ตอบสนองต่อความคาด หวังของประชาชน สร้างกระบวนการปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบและ มีมาตรฐาน มีการจัดการความเสี่ยงและมุ่งเน้นผลการปฏิบัติงานเป็นเลิศ รวมถึงมีการติดตามประเมินผลและพัฒนาปรับปรุงการปฏิบัติงานให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

               1.3 การตอบสนอง (Responsiveness) หมายถึง ในการปฏิบัติราชการต้องสามารถให้บริการได้อย่างมีคุณภาพ สามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด สร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจ รวมถึงตอบสนองตามความคาดหวัง/ความต้องการของประชาชนผู้รับบริการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีความหลากหลายและมีความแตกต่างกันได้อย่างเหมาะสม

       2.ค่านิยมประชาธิปไตย (Democratic Value) ประกอบด้วย

              2.1 ภาระรับผิดชอบ/สามารถตรวจสอบได้ (Accountability) หมายถึง ในการปฏิบัติราชการต้องสามารถตอบคำถามและชี้แจงได้เมื่อมีข้อสงสัย รวมทั้งต้องมีการจัดวางระบบการรายงานความก้าวหน้าและผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ต่อสาธารณะ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบและการให้คุณให้โทษ ตลอดจนมีการจัดเตรียมระบบการแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาและผลกระทบใด ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น

               2.2 เปิดเผย/โปร่งใส (Transparency) หมายถึง ในการปฏิบัติราชการต้องปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตตรงไปตรงมา รวมทั้งต้องมีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นและเชื่อถือได้ให้ประชาชนได้รับทราบอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนวางระบบให้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารดังกล่าวเป็นไปโดยง่าย

               2.3 หลักนิติธรรม (Rule of Law) หมายถึง ในการปฏิบัติราชการต้องใช้อำนาจของกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ ในการปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัดด้วยความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ และคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียฝ่ายต่าง ๆ

               2.4 ความเสมอภาค (Equity) หมายถึง ในการปฏิบัติราชการต้องให้บริการอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีการแบ่งแยกด้านชายหญิง ถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม และอื่น ๆ อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงโอกาสความเท่าเทียมกันของการเข้าถึงบริการสาธารณะของกลุ่มบุคคลผู้ด้อยโอกาสในสังคมด้วย

      3.ประชารัฐ (Participatory State) ประกอบด้วย

               3.1 การมีส่วนร่วม/การพยายามแสวงหาฉันทามติ (Participation/Consensus Oriented) หมายถึง ในการปฏิบัติราชการต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมทั้งเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรับรู้ เรียนรู้ ทำความเข้าใจ ร่วมแสดงทัศนะ ร่วมเสนอปัญหา/ประเด็นที่สำคัญที่เกี่ยวข้องร่วมคิดแก้ไขปัญหา ร่วมในกระบวนการตัดสินใจและการดำเนินงานและร่วมตรวจสอบผลการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ ต้องมีความพยายามในการแสวงหาฉันทามติหรือข้อตกลงร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจะต้องไม่มีข้อคัดค้านที่หาข้อยุติไม่ได้ในประเด็นที่สำคัญ

               3.2 การกระจายอำนาจ (Decentralization) หมายถึง ในการปฏิบัติราชการควรมีการมอบอำนาจและกระจายความรับผิดชอบในการตัดสินใจและการดำเนินการให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในระดับต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม

       4.ความรับผิดชอบทางการบริหาร (Administrative Responsibility) ประกอบด้วย

               คุณธรรม/จริยธรรม (Morality/Ethics) หมายถึง ในการปฏิบัติราชการต้องมีจิตสำนึกความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปอย่างมีศีลธรรม คุณธรรม และตรงตามความคาดหวังของสังคม

นโยบายและแนวทางการพัฒนา  มีดังนี้

          ๑. สร้างความสมัครสมานสามัคคี และความเป็นน้ำหนึ่งใจด้วยกัน (โดยเน้นหลักธรรม   พรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา และการให้อภัย ตลอดจนมองโลกในแง่ดีมีพลังเชิงบวก)

          ๒. สร้างจิตสำนึกของคนดี มีจิตสาธารณะ พร้อมที่จะบำเพ็ญตนเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม  (มีหัวใจบริการ)

          ๓. พัฒนาคุณธรรม จริยธรรม จรรยามารยาท และระเบียบวินัยแก่ผู้เรียนและตนเอง เพราะเชื่อว่าผู้ที่มีระเบียบวินัยจะง่ายต่อการเรียนรู้และพัฒนาได้ (ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน)

          ๔. พัฒนาให้ผู้เรียนสามารถอ่านออก เขียนได้ อ่านคล่อง เขียนคล่อง และส่งเสริมให้มีนิสัยรักการอ่าน รักการเรียนรู้ ตลอดจนแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง และมีความฉลาดในการเลือกสื่อที่เป็นประโยชน์แก่ตน 

           ๕. พัฒนาบุคลากรทางการศึกษาและผู้เรียน ให้มีโลกทัศน์ที่กว้างไกล สามารถเป็นผู้นำ  การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาให้โรงเรียนมีคุณภาพ มาตรฐานที่สูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป

          ๖. ส่งเสริมทักษะทางวิชาการแก่นักเรียน โดยมุ่งให้ผู้เรียนได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตน และค้นพบความสำเร็จได้ด้วยตนเอง ส่งเสริม สนับสนุนให้เข้าร่วมกิจกรรมทางวิชาการ ทั้งระดับโรงเรียน ตำบล อำเภอ เขตพื้นที่การศึกษา จังหวัด และระดับที่สูงขึ้น จัดกิจกรรม ทางวิชาการภายในโรงเรียนเพื่อเปิดโอกาสให้ฝึกฝนตนเองให้เข็มแข็งก่อนลงสู่สนามแข่งขันภายนอก

          ๗. พัฒนาห้องสมุดพร้อมระบบการบริหารจัดการ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ จัดให้มีการอำนวยความสะดวกและให้บริการด้วยหัวใจ

          ๘.  พัฒนาห้องคอมพิวเตอร์ และระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ให้สามารถใช้งานได้ดี มีประสิทธิภาพและใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ แสวงหาความรู้ ให้เท่าทันเทคโนโลยี ทันยุคสมัย ทันเหตุการณ์ 

          ๙. สร้างโอกาสให้ผู้เรียน ได้มีเวทีในการแสดงออกเชิงสร้างสรรค์ และพัฒนาศักยภาพของตนในด้านที่ถนัดและสนใจ ตลอดจนด้านที่ควรส่งเสริม สนับสนุนให้มีในตัวผู้เรียนทุกคน เช่น การแสดงต่าง ๆ การให้บริการแก่ผู้มีติดต่อ การเสียสละ การกล้าแสดงออกเชิงสร้างสรรค์ การประหยัดอดออม การพูดหน้าเสาธง การพูดประชาสัมพันธ์เสียงตามสายทั้งในโรงเรียนและชุมชน เป็นต้น

          ๑๐. การให้บริการทางการศึกษาและอื่น ๆ แก่ผู้เรียนและชุมชน ด้วยใจบริการ เช่น การให้บริการใช้อาคารสถานที่ การให้บริการยืมวัสดุอุปกรณ์ การให้บริการแหล่งเรียนรู้ห้องสมุด  คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต เป็นต้น

        ๑๑. ส่งเสริมด้านสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยแก่ผู้เรียน ให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง  และเป็นผู้ที่สามารถครองตนและอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างปกติสุข

       ๑๒. ปรับปรุงภูมิทัศน์ และสร้างสิ่งแวดล้อมภายใน ให้ร่มรื่น สะอาด สวยงาม น่าดู น่าอยู่  น่าเรียน 

       ๑๓. พัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารการศึกษา  ตลอดจนขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง  

การปฏิบัติหน้าที่ของครูและบุคลากรทางการศึกษา

        การปฏิบัติหน้าที่ ให้เป็นไปด้วยความสำนึกในความรับผิดชอบของความเป็นครูมืออาชีพ  โดยยึดแนวปฏิบัติ คือ

  1. ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ อดทน อดกลั้น
  2. ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสัตย์สุจริต
  3. ปฏิบัติหน้าที่ด้วยหัวใจบริการ ประสานประโยชน์
  4. เป็นแบบอย่างที่ดี มีเหตุผล

           ทั้งนี้ ให้ทุกคน ทุกกลุ่มงาน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างกัลยาณมิตร ให้ความรัก ความเมตตา ดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะหลักหัวใจบริการ คือ มาตรฐานการทำงานของเรา พร้อมทั้งปฏิบัติต่อผู้รับบริการอย่างเสมอภาคและเที่ยงธรรม ตามหลักธรรมาภิบาล ตลอดจนให้ระลึกอยู่เสมอว่า “เราจะร่วมกันสร้างสรรค์โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง”

          นอกจากนี้ ขอให้แต่ละฝ่าย แต่ละคน ออกแบบ ปรับปรุงและพัฒนา การทำงานภายใน  กลุ่มงานของตนให้มีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ และสร้างมาตรฐานในการปฏิบัติงานไว้เป็นแนวทางในการปรับใช้ให้เหมาะสมต่อไป

จุดเน้นการบริหาร

          แนวนโยบายที่แต่ละงาน ฝ่าย และบุคลากรทุกคนจะต้องปฏิบัติร่วมกัน เพื่อพัฒนาให้ผู้เรียน “ประพฤติดี มีความรู้ และอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข”  ดังนี้

  • ดูแล ห่วงใย  ใส่ใจ  ด้วยรัก  (ตามแนวทางระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน)
  • ปลอด ๐  ร  มส  และนักเรียนจบการศึกษาร้อยละ ๑๐๐
  • สะอาด ปลอดภัย  ใส่ใจบริการ
  • ชัดเจน โปร่งใส  ตรวจสอบได้